มะเร็งต่อมลูกหมาก...
ภัยใกล้ตัวของคุณผู้ชาย
โดย : ผศ.น.พ.สิทธิพร ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อการเฝ้าระวัง การตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัย การรักษาและการติดตามการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้พัฒนาและเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อายุขัยของประชากรยืนยาวขึ้น...
ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคภัยต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มตาม ในลักษณะที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 60-79 ปี ซึ่งเป็นเพศชาย มีแนวโน้มของการตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในสัดส่วนที่สูง ซึ่งสถิติการรับผู้ป่วยชายสูงอายุที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช มีประมาณ 500 รายต่อปี ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบมากอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปอด
แต่หากคนทั่วไปทราบถึงสาเหตุ และหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงการเกิดโรค ขณะที่ผู้ป่วยสามารถรับรู้ว่ามีอาการของโรคนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในระยะแรกๆ โอกาสรักษาให้หายขาดก็เป็นไปได้มาก จึงควรรู้เท่าทันของโรคดังกล่าว
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชายต่อลงมาจากกระเพาะปัสสาวะ และล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มีหน้าที่สำคัญในการผลิตน้ำเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เป็นส่วนหนึ่งของน้ำกามที่หลั่งออกมาตามปกติ แต่หากสภาพเซลล์ภายในของต่อมลูกหมากมีการแบ่งตัวมากขึ้นอย่างผิดปกติ เป็นสัญญาณว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากกำลังก่อตัวขึ้นโดยที่เราไม่อาจรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าสาเหตุแท้จริงของโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับอายุ และภาวะความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดเมื่ออายุมากขึ้น โดยฮอร์โมนเพศชายมักจะมีระดับลดลงในชายสูงอายุ อีกทั้งการศึกษาพบว่า อาหารที่มีไขมันสูงอาจมีส่วนก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดมะเร็งได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เราสามารถระวังติดตามคอยตรวจอย่างสม่ำเสมอได้
ผศ.น.พ.สิทธิพร ศรีนวลนัด ภาควิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยว่า วิธีการตรวจต่อมลูกหมาก ประกอบด้วยการตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์ใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความ ยืดหยุ่น ความแข็งของต่อมลูกหมาก อีกวิธีการที่มักใช้ร่วมกันคือ การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด นำมาวัดค่า ที่เรียกว่า PSA (Prostate-specific antigen) ถ้าระดับ PSA ในเลือดมีค่ายิ่งสูง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีการตรวจอัลตราซาวนด์ของต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก โดยการใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก และการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก ที่แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยรูปแบบการตรวจ
สำหรับผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ก็ควรไปรับการตรวจต่อมลูกหมากจากแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของโรคจะพบมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพบในชายไทยมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
อาการของโรคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
เริ่มแรก มะเร็งมีขนาดเล็กอยู่ในต่อมลูกหมาก มักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ การตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก มีการกดเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำให้เกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
ระยะที่ 3 มะเร็งขยายตัว จนอุดกั้นท่อปัสสาวะและกระจายออกนอกต่อม อาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น ต้องเบ่ง ปัสสาวะไม่ออก อาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ คลำพบโดยตรวจทางทวารหนัก
ระยะที่ 4 โดยในช่วง 2-3 ปีหลังจากผ่านระยะต่างๆเข้าสู่ที่เรียกว่า "โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเข้ากระดูก" มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระทั่งเข้าสู่กระดูกและอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อสะโพก กระดูกซี่โครง หัวไหล่ ขั้นนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด แขน ขา บวม และบางรายอาจจะเดินไม่ได้ เป็นอัมพาตเนื่องจากมีกระดูกสันหลังหักไปกดทับไขสันหลัง ได้รับความเจ็บปวดทรมานมาก
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรก ที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกไปนอกต่อมลูกหมาก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในหลายวิธีการ
- การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก โดยผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หรือใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งมีข้อดีคือ เจ็บแผลน้อย เนื่องจากเป็นแผลเจาะรู เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว การตัดเลาะต่อมลูกหมากทำได้โดยละเอียดแม่นยำ เนื่องจากภาพที่ขยายจากการส่องกล้อง เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท แต่ข้อเสียของการผ่าตัดคือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการการควบคุมปัสสาวะสูญเสียไปชั่วคราวหรือภาวะสูญ เสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- การฉายรังสี เข้าไปยังตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง หรือใช้การฝังแร่เข้าไปที่บริเวณต่อมลูกหมาก วิธีนี้มีโอกาสสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศน้อยกว่าการผ่าตัด เอาต่อมลูกหมากออก แต่อาจทำให้เกิดอาการอุจจาระบ่อย มีการระคายเคืองที่ทวารหนักและปัสสาวะลำบาก
ส่วนระยะแพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากแล้วโดยที่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะ อื่นๆ ที่ไกลออกไป การรักษาระยะนี้จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษามากกว่า 1 อย่าง เช่น การผ่าตัด การฉายแสง หรือการให้ยา ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ขณะที่การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระดูก อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การรักษาที่นิยมคือการตัดลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง บางรายอาจให้ยาต้านแอนโดรเจนทุก 1-3 เดือนร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ รวมถึงการให้ยาช่วยลดการทำลายของกระดูก ลดภาวะการเกิดกระดูกหัก การทำเคมีบำบัดหรือเคโมร่วม อย่างไรก็ตาม การรักษาในขั้นนี้ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเข้า กระดูก เป็นเพียงแต่บรรเทาอาการปวดกระดูก และประทังชีวิตผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ บางรายมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปี ก่อนเสียชีวิต ขึ้นกับโรคและสุขภาพผู้ป่วย "หากอาการมะเร็งต่อมลูกหมากลามไปกระดูกถึงร้อยละ 80-90 แล้ว ในระยะที่เรียกว่า 3-4 ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก" ผศ.น.พ.สิทธิพร กล่าว
การดูแลป้องกันตัวจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ยังไม่มีวิธีการใดที่พิสูจน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในการหลีกหนีจากโรคภัยดังกล่าว แต่ในหลักการคือพยายามใช้ชีวิตโดยไม่เครียด เชื่อว่าความเครียดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะจากเนื้อสัตว์ต้องระวังเป็นพิเศษ และในครอบครัวที่พบว่าญาติพี่น้องมีอาการของโรค ในระยะยาวควรมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากอย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลน่าสนใจจากผู้ทำการศึกษาถึงสาเหตุที่มาของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในต่าง ประเทศ ที่ตั้งข้อสงสัยว่า การเกิดโรคนี้อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในระยะยาว ซึ่งพบว่าโรคนี้ไม่เกิดกับชายอายุน้อย แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์เรื่องนี้ออกมา เป็นเพียงการตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจมีความสัมพันธ์หรือไม่ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น