- โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy)

โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
โรคสมอง พิการ (Cerebral Palsy) เกิดจากความบกพร่องของเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดปัญหาในการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง งุ่มง่าม เคลื่อนไหวช้า
ทรง ตัวได้ไม่ดี สมองส่วนที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของเด็กสมองพิการเกิดบกพร่อง หรือสูญเสีย ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง งุ่มง่าม เคลื่อนไหวช้า ทรงตัวได้ไม่ดี เด็กสมองพิการบางคนอาจมีความบกพร่องอื่นร่วมด้วย เช่น บกพร่องการได้ยิน การมองเห็น หรือการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละคนจะเป็นมากน้อยแตกต่างกัน โรคสมองพิการได้รับการบันทึกในวารสารการแพทย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1863 โดยนายแพทย์วิลเลียม ลิ้ตเติล ชาวอังกฤษ รายงานผู้ป่วยเด็กอายุหนึ่งปี มีความผิดปกติไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย กล้ามเนื้อขาทั้งสองข้างแข็งเกร็ง ในขณะนั้นจึงเรียกชื่อว่า Little’s disease
โรค นี้ไม่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเป็นโรคที่ไม่เป็นมากขึ้น อาการของโรคสมองพิการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อระบบประสาทเจริญเต็มที่ ความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ถึงประมาณ 7 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่สมองเติบโตเต็มที่ สมองจะไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูสภาพความพิการ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ก็จะติดยึดหรือเกร็งมากขึ้น
สาเหตุ
  1. โรคสมองพิการเกิดได้จากหลาย สาเหตุ โดยเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ถึงประมาณ 7 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่สมองเติบโตเต็มที่ สมองจะไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูสภาพความพิการ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ก็จะติดยึดหรือเกร็งมากขึ้น
  2. ส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิด ขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน รายงานการศึกษาพบว่าสาเหตุจากระยะในครรภ์มารดา และระยะการคลอด พบมากกว่าสองในสามของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด
  3. สาเหตุที่เกิดระหว่างคลอดพบได้ ร้อยละ 3–13 ของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด ส่วนสาเหตุที่เกิดหลังคลอดพบได้ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด
  4. กลุ่มที่ไม่พบสาเหตุ พบได้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด แต่ก็ควรค้นหาโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรม ก่อนจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองพิการ
  5. เมื่อทำการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า พบความผิดปกติของสมองได้ 4 แบบ ชนิดแรกเป็นความผิดปกติที่เนื้อขาวของสมอง เรียกว่า periventricular leukomalacia (PVL) ชนิดที่สองพบพัฒนาการที่ผิดปกติของสมอง ชนิดที่สามพบเลือดออกในสมอง และชนิดสุดท้ายพบภาวะสมองขาดเลือดที่รุนแรง
  6. การศึกษาในยุคจีโนมิกส์ พบยีนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสมองพิการ เช่น ยีนที่ควบคุมการสร้างสารกลูตาเมตที่มากเกินไป ยีนที่ควบคุมการสร้างสาร neurotropins ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันอันตรายให้กับเซลล์ประสาท เป็นต้น
สาเหตุที่เกิดขึ้นขณะมารดาตั้งครรภ์
  1. มารดาเป็นโรคหัดเยอรมันหรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น cytomegalovirus หรือเป็นโรค toxoplasmosis
  2. มารดาเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคลมชักชนิดรุนแรง หรือโรคขาดอาหารรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดาในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง เกิดมีปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบหายใจ
  3. ระหว่างตั้งครรภ์มารดาได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุ ดื่มเหล้าจัด สูบบุหรี่จัด ได้รับสารพิษ หรือสารกัมมันตรังสี
สาเหตุจากความผิดปกติของพัฒนาการของสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
  1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม
  2. ภาวะหลอดเลือดสมองของทารกตีบหรืออุดตัน หรือความผิดปกติอื่นๆของเส้นเลือดในสมองของทารกในครรภ์
  3. ในต่างประเทศมีรายงานภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและระบบประสาท
สาเหตุที่เกิดระหว่างการคลอด
  1. ทารกคลอดยาก คลอดท่าก้น ครรภ์แฝด
  2. รกพันคอ
  3. สมองทารกได้รับบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกในสมองขณะคลอด
  4. ความผิดปกติของการคลอด เช่น รกเกาะต่ำ
  5. ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1500 กรัม
สาเหตุที่เกิดขึ้นหลังคลอด
  1. ทารกแรกเกิดไม่หายใจ ภาวะตัวเขียวหลังคลอด
  2. ทารกแรกเกิดที่ไม่ร้องภายใน 5 นาทีแรกหลังคลอด
  3. ทารกแรกเกิดที่ต้องอยู่ในตู้อบเกิน 4 สัปดาห์
  4. ทารกแรกเกิดที่มีภาวะดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง ชนิดรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังคลอดในช่วงสัปดาห์แรก
  5. ทารกหรือเด็กเล็กภายใน 3-5 ขวบแรกที่เป็นโรคติดเชื้อของสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กมีการติดเชื้อในช่วงสัปดาห์แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคสมองอักเสบจากไวรัส
  6. สมองขาดออกซิเจน เช่น สิ่งแปลกปลอมติดคอ จมน้ำ บาดเจ็บของศีรษะ โรคของเส้นเลือด และการติดเชื้อในสมอง
  7. บางรายพบว่าเกิดจากเด็กอาจจะ ได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระเทือนกับสมองโดยตรง ทารกที่ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น รถชน รถคว่ำ พลัดตกจากที่สูง ถูกจับเขย่าตัวแรงๆ
  8. ภาวะชักที่พบในทารกแรกเกิด
  9. อาจเกิดจากสารพิษ เช่นโรคพิษตะกั่วซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กที่กินสีทาบ้านที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว
ลักษณะของเด็กสมองพิการ
  1. เด็กสมองพิการ มีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะอ่อนปวกเปียก และจะค่อยๆ เกร็งมากขึ้นทีละน้อย ลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนของเด็กสมองพิการ ได้แก่ กล้ามเนื้อหดตัวและเกร็ง พบความผิดปกติของการควบคุมการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวช้า เก้งก้าง และมีอาการเกร็ง กลุ่มนี้พบมากที่สุด
  2. บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้อควบ คุมการเคลื่อนไหวได้ยาก แขน ขาไม่สัมพันธ์กัน หันออกไปตามทิศต่างๆ ส่วนชนิดที่มีอาการสั่น เดินเซ ควบคุมการทรงตัวได้ไม่ดี เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด
  3. ในกรณีที่เป็นแบบผสม จะพบลักษณะร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิด เช่น มีอาการเกร็ง ร่วมกับมีอาการเคลื่อนไหวของแขนและขาไม่สัมพันธ์กัน หันไปคนละทิศ หรือมีอาการเกร็งและควบคุมการทรงตัวไม่ได้ มีอาการสั่น เดินเซ เป็นต้น
อาการผิดปกติของเด็กโรคสมองพิการ
  1. ไม่สามารถตั้งคลานได้
  2. มีอาการเกร็งของแขนและขาทั้งสองข้าง
  3. มีอาการเกร็งของแขน ขา ซีกใดซีกหนึ่ง
  4. เมื่อฉุดเด็กนั่ง คอเด็กจะตกไปข้างหลัง
  5. มีการกำมือตลอดเวลา แม้อายุมากขึ้น
  6. ขณะนั่งและยืน เด็กไม่สามารถวางเท้าราบกับพื้นได้
  7. เด็กอ่อนปวกเปียกขณะถูกอุ้ม เด็กไม่สามารถทรงตัวได้
โรคสมองพิการชนิดหดเกร็ง
  1. โรคสมองพิการชนิดหดเกร็ง หรือที่เรียกว่า spastic CP พบได้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50- 75 ของทั้งหมด โดยจะมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากผิดปกติ ร่วมกับมีลักษณะท่าทางที่ผิดปกติจากผลของปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆตามส่วนของร่างกายที่ผิดปกติออกเป็นหลายประเภท
  2. ประเภท spastic hemiparesis พบมากที่สุดในบรรดาผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการชนิดหดเกร็ง มีอาการของแขนและขาข้างเดียวกัน โดยแขนเป็นมากกว่าขา เห็นลักษณะท่าทางของแขนที่ผิดปกติชัดเจน คือ มีการงอของข้อศอก แขนคว่ำ ข้อมือและนิ้วงอ ส่วนที่ขาจะเดินเท้าจิกลง ส่วนมากโรคสมองพิการชนิดหดเกร็งกลุ่มนี้เกิดจากการบาดเจ็บช่วงการคลอด
  3. โรคสมองพิการชนิดหดเกร็งประเภท spastic diplegia มีอาการของขาและแขนทั้ง 2 ข้าง โดยขา 2 ข้างมีอาการมากกว่าแขน เด็กจะเดินเกร็งเท้าจิกลงหรือไขว้กัน ส่วนที่แขนพบมีเพียงความตึงตัวของกล้ามเนื้อหรือปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ที่ไว กว่าปกติ มักมีสาเหตุจากการคลอดก่อนกำหนด
  4. ประเภท spastic quadriplegia มีอาการของแขนขาทั้งหมด โดยขา 2 ข้าง มีอาการมากกว่าแขน และในส่วนของแขน มีความผิดปกติให้เห็นชัดเจน เกิดจากพยาธิสภาพในสมองที่ใหญ่และรุนแรง มักจะมีความผิดปกติในส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วย รวมทั้งปัญหาการดูด กลืนและการพูด
  5. โรคสมองพิการชนิดหดเกร็งประเภท double hemiplegia มีอาการของแขนขาทั้งหมด และแขน 2 ข้างมีอาการมากกว่าขา
  6. ผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการชนิดหด เกร็งมักมีอาการที่ขามากกว่าแขน พบปัญหาความผิดปกติด้านการเรียนรู้และอาการชักได้น้อย แต่อาจพบอาการสั่นเกิดขึ้นที่แขนขาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย บางรายอาจสั่นมากจนมีผลต่อการเคลื่อนไหว
โรคสมองพิการชนิดยุกยิก
  1. โรคสมองพิการชนิดยุกยิก หรือที่เรียกว่า athetoid CP (dyskinetic CP) พบได้ร้อยละ 10-20 ของทั้งหมด ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากภาวะเหลืองหลังคลอดในทารกแรกเกิด ซึ่งปัจจุบันลดลงจากการแพทย์ที่ดีขึ้น มักมีอาการที่แขนมากกว่าขา
  2. บางรายมีการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ของกล้ามเนื้อส่วนปลายแขน รวมทั้งใบหน้า (athetosis) บางรายมีการเคลื่อนไหวของใบหน้าและกล้ามเนื้อส่วนปลายแขนอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ (chorea)
  3. โรคสมองพิการชนิดยุกยิกประเภท dystonia จะมีการบิดและการเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเป็นจังหวะที่ส่วนของลำตัวและ กล้ามเนื้อต้นแขน และจะคงอยู่ในท่านั้น ๆ อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  4. พบว่ามีการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นจังหวะ (tremor) ร่วมด้วยบ่อยในผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการชนิดยุกยิก
  5. โรคสมองพิการชนิดยุกยิกมักมี อาการผิดปกติปรากฏชัดที่กล้ามเนื้อใบหน้าและลิ้น พบอาการพูดไม่ชัดได้บ่อย บางรายมีความผิดปกติของการได้ยินร่วมด้วย
โรคสมองพิการชนิดเดินเซ
  1. โรคสมองพิการชนิดเดินเซ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ataxic CP พบได้ร้อยละ 5-10 ของทั้งหมด
  2. สูญเสียความสามารถในการทรงตัว และการรับรู้ระดับสูง-ต่ำ การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อแขนขาอาจบกพร่องอย่างรุนแรง ลักษณะการเดินไม่มั่นคงและเท้าทั้งสองแยกห่างออกจากกัน
  3. มักมีปัญหากับการเคลื่อนไหวที่ รวดเร็วหรือที่ต้องใช้ความแม่นยำ เช่น เขียนหนังสือ เย็บกระดุมเสื้อ บางรายอาจมีอาการสั่นชนิดที่เกิดขึ้นเมื่อตั้งใจ เช่น ขณะเอื้อมมือหยิบสิ่งของ อาการสั่นจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้สิ่งของที่เป็นเป้าหมาย
  4. นอกจากนี้ยังอาจพบกลุ่มที่มี อาการเกร็ง และเคลื่อนไหวน้อยลง (rigidity) กลุ่มที่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงหรือไม่มีเลย (hypotonic and atonic type)
โรคสมองพิการชนิดผสม
  1. spastic – athetoid
  2. spastic – ataxia
  3. spastic – rigidity
  4. โรคสมองพิการชนิดผสม พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรคสมองพิการทั้งหมด
การวินิจฉัย
แพทย์ จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นสำคัญ มักจะวินิจฉัยได้ชัดเจน เมื่ออายุ 1-2 ขวบ ซึ่งบางครั้งอาจต้องติดตามเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงสักระยะหนึ่ง จึงจะสรุปได้ชัดเจนในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจสมอง เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจคลื่นสมอง เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคสมองพิการ
การรักษา
  1. หากสงสัย เช่น ทารกหรือเด็กเล็กมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ มีกล้ามเนื้อแข็งหรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เป็นต้น ควรพาไปปรึกษา แพทย์โดยเร็ว
  2. เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคสมองพิการ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรให้การดูแลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กสามารถพึ่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  3. หลักการรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะอาการที่พบ ส่วนมากจำเป็นต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ฝึกพูด แก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน ส่วนยาที่ให้ จะเป็นยาที่ใช้ควบคุมอาการเกร็ง อาการสั่น อาการชัก ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายชนิด และจำเป็นต้องกินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  4. บางครั้งแพทย์อาจฉีดสารโบท็อกซ์ (Botox) เพื่อลดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขความพิการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น