มะเร็ง ของกระดูกและเนื้อเยื่อ พบได้น้อย แต่ถ้าเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรง และแพร่กระจายได้รวดเร็ว โดยมากพบในกลุ่มคนอายุน้อยกว่าหรือวัยรุ่น 10-30 ปี
มะเร็งกระดูก
- มะเร็งกระดูก แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ มะเร็งของตัวกระดูกเอง และมะเร็งที่แพร่กระจายจากมะเร็งอวัยวะอื่น
- เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด มักพบในผู้ที่มีอายุมาก กว่า 40 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ยังไม่ ทราบแน่ชัด บางรายอาจมีประวัติหกล้มกระแทกถูกกระดูกบริเวณนั้นมาก่อน และมาพบแพทย์เพราะได้รับอุบัติเหตุ พอมาเอ็กซเรย์ ก็จะพบว่าเป็นมะเร็งของกระดูก ซึ่งเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา
- อาการ จะพบว่ามีก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูก ก้อนจะโตเร็ว ต่อมาจะมีอาการปวด ร่วมด้วย บางรายมาด้วยอาการกระดูกหักแตกได้ง่ายจากการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย
การวินิจฉัย
แพทย์ จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด มักต้องอาศัยเอ็กซเรย์ร่วมด้วย บางรายแพทย์อาจตัด ชิ้นเนื้อไปตรวจดูทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษา
- โดยทั่วไปอาศัยการผ่าตัดเป็นหลักอาจใช้การฉายแสง หรือยาเคมีบำบัดร่วมด้วยในบางกรณี
- มะเร็งของกระดูก แม้พบได้น้อย แต่เมื่อเป็นแล้วจะมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะทรุดลง อย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากพบความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะการวินิจฉัยได้เร็ว และให้การรักษาโดยฉับพลันเป็นหัวใจของความอยู่รอดของผู้ป่วยต่อไป
- การผ่าตัด โดยตัดเอากระดูกชิ้นที่เป็นมะเร็งออกทั้งอัน เช่น ผ่าตัดแขน หรือขาทิ้ง หรือตัดกระดูกขากรรไกรออก แล้วทำศัลยกรรมตกแต่งภายหลัง
- การรักษาด้วยรังสี หรือให้ยาเคมี เป็นวิธีรักษาในรายที่เป็นมะเร็งบริเวณกระดูก ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น มะเร็งของกระโหลกศีรษะ หรือในรายที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เป็นการรักษาเพื่อประคับประคอง ทุเลาความเจ็บปวด ลดขนาดของมะเร็งลง
- การรักษาโดยการผสมผสานกันหลายๆ วิธี เช่น การผ่าตัดร่วมกับฉายรังสี หรือการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีทั้งนี้ตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
การรักษามะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูก
- ร้อยละ 80 ของมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก มาจากมะเร็งของเต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์ ปอด และไต
- เป้าหมายในการรักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวด และรักษาสภาพจิตใจของคนเป็นมะเร็ง ให้ สามารถเคลื่อนไหว ช่วยตนเองได้ และสามารถกลับสู่สังคมได้ เพราะมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก ก่อให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากการกดทับของไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต กระดูกหัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูง ทำให้อาจมีอาการชัก ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และภาวะขาดน้ำ
- การผ่าตัดจะทำโดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เพื่อลดความเจ็บปวด และ ทำให้สามารถใช้อวัยวะส่วนนั้นๆ ได้ใกล้เคียงปกติ การผ่าตัดส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง มากกว่าที่จะรักษาให้หายขาด คนเป็นมะเร็งบางคนอาจมีโอกาสกระดูกหัก แต่ยังไม่หัก ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพื่อป้องกันการหัก ส่วนการรักษาคนที่กระดูกหัก จากมะเร็งลุกลามมาที่กระดูกแล้ว ขึ้นอยู่กับลักษณะตำแหน่งของกระดูกที่เกี่ยวข้อง การตอบสนองต่อรังสีรักษาและเคมีบำบัด สุขภาพทั่วไป ระยะของโรค ระยะเวลาชีวิตที่เหลือ
- หลักการในการผ่าตัดนั้น ควรจะผ่าตัดที่เบ็ดเสร็จเรียบร้อยภายในครั้งเดียว เพราะคนกลุ่มนี้มีสุขภาพทั่วไปไม่แข็งแรง
- ในคนที่ยังไม่มีกระดูกหัก แต่มีรอยโรคในส่วนของกระดูกระยางค์ และมีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักสูงมาก อาจต้องผ่าตัดยึดตรึงกระดูก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ซึ่งรอยโรคมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2.5 เซนติเมตร มีการทำลายกระดูกมากกว่าร้อยละ 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกระดูก อาการปวดมาก ไม่สามารถทุเลาลงด้วยยาแก้ปวด และพิจารณาลักษณะของการทำลายกระดูกร่วมด้วย
- ภายหลังการผ่าตัดทุกราย จำเป็นต้องได้รับการฉายรังสีรักษาที่บริเวณผ่าตัด เพื่อ ลดโอกาสการเกิดซ้ำของมะเร็งเฉพาะที่ และลดปัญหาการเกิดการหักหลวมของวัสดุที่ใช้ในการยึดตรึงกระดูก หรือทดแทนกระดูกส่วนนั้น บางครั้งถ้าแพทย์คาดการณ์ภาวะมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกได้ดี คนๆ นั้นก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้
มะเร็งของเนื้อเยื่อ
- มะเร็งของเนื้อเยื่อเกิดได้ทั่วๆ ตัว โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเช่นกัน มักพบเป็นก้อนโปนหรือบวม อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ ก้อนโตเร็ว
- แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และมักต้องอาศัยการเอกซเรย์ร่วมด้วย บางรายแพทย์อาจต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดูทางพยาธิเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
- มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเป็นมะเร็งที่พบน้อยโดยพบประมาณร้อยละ 1 ของมะเร็งทั้งหมด โดยมีต้นกำเนิดจากเซลล์มีเซนไคม์
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
อาการ
ผู้ ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ เพราะสัดส่วนที่ก้อนเป็นเนื้องอกธรรมดาต่อก้อนมะเร็งเท่ากับ 100 : 1 ทำให้แพทย์ไม่นึกถึงว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน นอกจากนี้แพทย์ผู้รักษาอาจทำการตัดชิ้นเนื้อโดยไม่ได้วางแผน และไม่ได้นึกถึงโรคมะเร็งทำให้ยากต่อการวางแผนการรักษาในอนาคต เพราะแผลที่ทำการตัดชิ้นเนื้อจะต้องได้รับการผ่าตัดออกหรือฉายรังสี ดังนั้นหากแพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือก้อนมะเร็งควรส่งต่อผู้ป่วยไปสถาบันที่มีบุคลากรที่มีความพร้อม และประสบการณ์สูง
การรักษา
โดยทั่วไปอาศัยการผ่าตัดเป็นหลัก อาจใช้การฉายแสงหรือยาเคมีบำบัดร่วมด้วยในบางกรณี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น