- มะเร็งทางเดินอาหาร

ภัยใกล้ตัว...มะเร็งทางเดินอาหาร


โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
มะเร็ง ในระบบทางเดินอาหารจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่มีอาการให้รู้ตัว จึงทำให้ยากที่จะทราบได้ถ้าไม่ตรวจเช็คแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยง ...
โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ที่รู้จักกันดีได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ ส่วนมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับอ่อน มะเร็งของลำไส้เล็ก ถุงน้ำดี และม้าม ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าใดนัก

มะเร็งบางชนิดสามารถตรวจเช็คทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจเอ็กซ์เรย์ได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการ อาจเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น เบื่อาหาร ผอมลง ต้องเริ่มวิเคราะห์ จากอาการที่เป็นซึ่งในบางอาการ อาจพอที่จะระบุได้ว่าเป็นอวัยวะใด แต่มักไม่จำเพาะว่าต้องเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม

ในระยะเริ่มแรกไม่จำเป็นต้องมีอาการ ซึ่งยากที่จะทราบได้ถ้าไม่ตรวจเช็คแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงซึ่งแตกต่างกันไปในมะเร็งแต่ละชนิด บางชนิดสามารถตรวจเช็คทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจเอ็กซเรย์ได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจเลือดซ่อนเร้นในอุจจาระ (stool occult blood) หรือมะเร็งตับ ตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alphafetoprotein, AFP) ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการ อาจเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น เบื่ออาหาร ผอมลง อ่อนเพลีย ต้องเริ่มวิเคราะห์จากอาการที่เป็น ซึ่งในบางอาการ อาจพอที่จะระบุได้ว่าเป็นอวัยวะใด แต่มักไม่จำเพาะว่าต้องเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม


มะเร็งหลอดอาหาร
อาการที่ควรสงสัย คือ กลืนลำบากติดที่กลางอก หรือกลืนแล้วอาเจียนสำลัก โดยเฉพาะอาหารแข็งมากกว่าอาหารเหลว แต่ถ้าเป็นมาก ก็จะกลืนติดทั้งอาหารแข็งและเหลว อาการอื่นที่พบได้ เช่น อาเจียนเป็นเลือดดำ (เลือดถูกกรดในกระเพาะอาหารจะเปลี่ยนสีจากแดงเป็นดำ) หรือแดง กลืนแล้วเจ็บกลางอก หรือเจ็บหน้าอกแต่ตรวจแล้วไม่ได้เกิดจากโรคปอดหรือหัวใจ ตรวจหาได้โดยการกลืนแป้งเอ็กซเรย์หรือส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร


มะเร็งกระเพาะอาหาร
อาการที่ควรสงสัย คือ ปวดจุกที่ลิ้นปี่ หรืออาเจียนเป็นเลือดดำหรือแดง อาการอื่นที่พบได้ เช่น ก้อนที่ลิ้นปี่ ปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงจากมะเร็งกระเพาะอาหารทะลุ อาเจียนหลังทานอาหารสักพักจากภาวะกระเพาะอาหารอุดตัน ตรวจหาได้โดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ส่วนการกลืนแป้งเอ็กซเรย์ไม่ค่อยดีพอในมะเร็งเล็กๆ หรือชนิดที่แทรกตามผิวกระเพาะอาหาร


มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก
อาการที่ควรสงสัย คือ ถ่ายเป็นเลือดแดง การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องเสียสลับท้องผูกบ่อยๆ ก้อนที่ทวารหนัก

อาการอื่นที่พบได้ เช่น ปวดท้องเรื้อรังอาจเฉพาะที่หรือเปลี่ยนที่ไปมา ไม่ถ่ายไม่ผายลมปวดท้องรุนแรงมากจากภาวะลำไส้อุดตัน ตรวจหาได้โดยการตรวจเลือดซ่อนเร้นในอุจจาระ หรือสวนแป้งเอ็กซเรย์ทางทวารหนัก หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

ในปัจจุบันมีการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (carcinoembryonic antigen, CEA) ซึ่งมีประโยชน์ในการติดตามผู้ป่วยมะเร็งลำไส้หลังรักษาที่มีสารนี้ขึ้นสูง ผิดปกติก่อนรักษา ว่ามีการตอบสนองหรือเกิดซ้ำหรือไม่ ไม่ควรใช้ในการเฝ้าระวังหรือตรวจหาในประชากรทั่วไป เพราะไม่มีความไวหรือความจำเพาะเจาะจงเพียงพอ กล่าวคือสารนี้ปกติหรือขึ้นสูงได้ในคนปกติ และสารนี้อาจปกติได้ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้

มะเร็งตับ
พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มสุราประจำเป็นเวลานานๆ มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็ง อาการที่ควรสงสัย คือ ปวดหรือมีก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน (มีน้ำในท้อง)

อาการอื่นที่พบได้ เช่น อาเจียนเป็นเลือดดำหรือแดง ขาบวม ตรวจหาได้โดยอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน ส่วนการตรวจเลือดหาสารที่บ่งชี้มะเร็งตับ (alphafetoprotein, AFP) จะสูงผิดปกติในมะเร็งตับเพียง 70% และไม่จำเพาะเจาะจง เพราะสูงผิดปกติได้ในภาวะอื่นๆอีกมาก จึงแนะนำให้ส่งตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวข้างต้น หรืออัลตร้าซาวด์สงสัยมะเร็งตับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น