โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ปวดท้อง ที่ไม่ธรรมดา เรื่องสำคัญเกี่ยวกับอาการปวดท้องที่คนทั่วไปควรสนใจได้แก่ การแยกให้ได้ว่ากรณีใดควรรักษาตนเอง และกรณีใดควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อาการปวดท้องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยๆ และสามารถรักษาด้วยตนเองได้
เช่น ปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร และปวดท้องจากโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนอาการปวดท้องบางกรณีจะยากในการวินิจฉัยเบื้องต้น หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน ได้แก่ อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นกระทันหัน และรุนแรง อาการปวดท้องที่คงอยู่นานกว่า 4 ชั่วโมง โดยไม่ทุเลาเลย อาการปวดท้องที่มีอาการอาเจียนหลายครั้ง และอาการปวดท้องที่รักษาด้วยตนเองแล้วไม่ทุเลารายละเอียดอาการปวดท้องที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค- ตำแหน่ง หรือบริเวณที่เริ่มปวด เช่น บริเวณลิ้นปี่ รอบๆ สะดือ หน้าท้องส่วนบน ใต้ชายโครงขวา หรือซ้าย ท้องน้อยตรงกลาง เหนือหัวเหน่า หรือท้องน้อยขวา หรือซ้าย และเมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดเปลี่ยนหรือ ย้ายที่หรือไม่
- ปวดท้องมานานเท่าไร ภายในไม่กี่ชั่วโมง 2-3 วัน หรือเป็นเรื้อรังมานาน
- ลักษณะของอาการปวดเป็นแบบใด ปวดเป็นพักๆ เดี๋ยวปวดมากเดี๋ยวเบาลง หรือปวดตลอดเวลา ไม่มีหยุดพักเลย และปวดแบบแสบร้อน ปวดเหมือนถูกแทง ปวดตื้อๆ หรือปวดถ่วงๆ เป็นต้น
- อาการปวดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทันทีทันใด หรือค่อยๆ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ได้จึงมาพบแพทย์
- มีอาการปวดร้าวไปที่อื่นหรือไม่ เช่น ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ขวาหรือซ้าย ร้าวไปหลัง ไปเอว ไปขาหนีบ หรือร้าวไปที่ลูกอัณฑะ
- มีอาการอื่นที่เกิดร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนท้องผูก ท้องเสีย เป็นไข้ เหงื่อแตก หน้ามืดเป็นลม
- สาเหตุที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น อาหาร การถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ การหายใจแรงๆ ไอหรือจาม การเคลื่อนไหว ท่านั่งหรือท่านอน
- สาเหตุที่ทำให้ปวดน้อยลง เช่น อาเจียนแล้วดีขึ้น การอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวท่านั่งหรือท่านอน การงอตัว อาหาร หรือยาบางชนิดเช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
- ประวัติการเจ็บป่วย และโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ โรคแผล ในกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดี เคยได้รับการผ่าตัดในช่องท้อง หรือได้รับอุบัติเหตุที่ท้อง
- ประวัติส่วนตัว ประวัติประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การออกกำลังกาย งานประจำ และงานอดิเรกที่อาจเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย
อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร- มักเกิดขึ้นขณะที่กำลังรับ ประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารอิ่มแล้วไม่นานนัก โดยทั่วไปมักเกิดเมื่อรับประทานอาหารมากกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารห่างจากมื้อก่อนนานกว่าปกติ เรียกว่าหิวอยู่นาน
- ตำแหน่งที่ปวดอยู่บริเวณสูงกว่าสะดือ
- บางคนจำได้ว่า เคยมีอาการเช่นเดียวกันนี้เป็นครั้งคราว ภายใต้สภานการณ์เดียวกัน และหายได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง วันต่อมาก็สบายดี รับประทานอาหารได้ตามปกติ
- บางคนอาการไม่รุนแรงพอที่จะเรียกว่าปวดท้อง ก็เรียกว่า ท้องอืด หรือท้องเฟ้อ อาการ เหล่านี้หากเกิดเป็นครั้งคราว ถือว่าเป็นความผิดปกติชั่วคราว เกิดจากกระเพาะอาหารบีบตัวรุนแรงกว่าธรรมดา ต่างจากโรคกระเพาะอาหารจริงๆ ซึ่งคนไข้จะปวดติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานหลายวัน เป็นสัปดาห์ หรือนานกว่านั้นหากไม่ได้รับการรักษา
- กรณีหลังนี้น่าจะสงสัยในเบื้อง ต้นว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป เช่น พิจารณาส่องกล้องตรวจเยื่อบุกระเพาะ และทางเดินอาหารส่วนต้น หรือพิจารณาส่งตรวจด้วยการกลืนแป้งแล้วฉายภาพรังสีเพื่อดูว่ามีความผิดปกติ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่
- การรักษาเบื้องต้นในกรณีปวด ท้องจากโรคกระเพาะอาหาร หากเป็นขณะกำลังรับประทานอาหาร ต้องหยุดรับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ให้ลุกจากโต๊ะอาหารไปเดินเล่น อาการจะค่อยๆ หายไป หากเกิดภายหลังอิ่มอาหาร และดื่มน้ำแล้ว การลุกไปเดินก็จะทำให้ทุเลาลงได้เช่นกัน ยาที่จะช่วยให้อาการทุเลาเร็วขึ้น ได้แก่ยาลดกรดที่ออกฤทธิ์เร็วเช่น โซดามินต์ เพื่อให้หายเร็วควรรับประทานครั้งแรก 4 เม็ด หากไม่หายภายใน 5 นาทีให้รับประทานอีก 2 เม็ด ถ้าหาย ต่อไปอาจป้องกันการเกิดอาการนี้ได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงสาเหตุ ถ้าทำไม่ได้ ขณะหิวมากก่อนรับประทานอาหาร ควรรับประทานยาลดกรด เช่น โซดามินต์ 2 เม็ดเสียก่อนที่จะเกิดอาการ หรือถ้าต้องการใช้ยาที่ออกฤทธิ์นานอาจใช้รานิติดีน ranitidine ในกรณีที่อาการไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไปเพราะสาเหตุอาจจะเป็นจากโรคแผล ในกระเพาะอาหารชนิดรุนแรง หรืออาจเป็นโรคนิ่วถุงน้ำดีหรือโรคหัวใจก็ได้
- เชื้อแบคทีเรีย "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร" (Helicobacter pyroli) เข้า สู่กระเพาะได้โดยการกลืนเข้าไป หรือขย้อนเชื้อจากลำไส้มาอยู่ในกระเพาะอาหาร โดยปกติในกระเพาะอาหาร จะไม่มีเชื้อแบคทีเรีย หลังจากเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหาร จะใช้หนวดของมันว่ายเข้าไปฝังตัวในเยื่อเมือกบุผนังกระเพาะ และปล่อยน้ำย่อย เอ็นซัยม์ และสารพิษมาทำลาย และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ด้วยกลไกนี้ร่วมกับกรดที่หลั่งออกมาจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะ จะช่วยกันทำลายผนังกระเพาะให้มีการอักเสบ และเกิดเป็นแผลได้ในที่สุด
โรคอาหารเป็นพิษ- โรคอาหารเป็นพิษ (food poisoning) ทำให้มีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอาเจียน และอาการท้องเดิน สาเหตุ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนแบคทีเรีย หรือสารพิษจากแบคทีเรีย อาการปวดท้องมักจะอยู่บริเวณกลางท้องรอบๆ สะดือ หรือสูงกว่าเล็กน้อย ถ้าอาการปวดท้องเกิดขึ้นร่วมกับอาการอาเจียน การอาเจียนจะมีผลทำให้อาการปวดท้องทุเลาอย่างชัดเจน ถ้าอาการปวดท้องเกิดร่วมกับอาการท้องเดิน การถ่ายอุจจาระจะทำให้อาการปวดท้องทุเลาเช่นกัน
- การรักษา อาการ ปวดท้องในกรณีนี้ ถ้ายังมีอาการอาเจียนอยู่ อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางที่ท้อง ถ้าไม่อาเจียน หรือหายอาเจียนแล้ว ให้รับประทานยาบุสโคพาน buscopan ร่วมกับพอนสแตน ponstan แม้ว่าอาการปวดท้องจะทุเลาแล้ว ควรป้องกัน การเกิดอาการปวดท้อง โดยรับประทานเฉพาะบุสโคพานทุก 4 ชั่วโมง ประมาณ 3 ครั้ง ถ้ารับประทานอาหารได้ ควรรับประทานยาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนอาหาร ปวดท้องจากโรคอาหารเป็นพิษต้องหายภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง
- ฤดูร้อนเป็น ฤดูที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด ในบางพื้นที่ของประเทศที่ประสบกับภาวะภัยแล้ง ในช่วงฤดูร้อนนี้อาจจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์ เป็น ต้น จึงควรระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะในการใส่อาหาร ตลอดจนให้มีการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และควรทราบในเบื้องต้นถึงอาการสำคัญและวิธีการป้องกันโรคติดต่อที่มักจะเกิด ในฤดูร้อนที่สำคัญ และพบได้บ่อย
- โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อซัลโมเนลล่า แคมไพโรแบคเตอร์ เชื้อรา เห็ดบางชนิด หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวม ทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอ ก่อนรับประทานก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้
ปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ- ไส้ติ่งอยู่บริเวณท้องด้านขวา ล่าง เมื่อเกิดการอักเสบ มีอาการปวดท้องเป็นสำคัญ ในระยะเริ่มแรกอาการปวดไม่รุนแรงนัก และรู้สึกปวดที่บริเวณกลางท้อง เมื่อการอักเสบรุนแรงขึ้น อาการปวดจะชัดเจนมากขึ้น และย้ายมาปวดที่บริเวณท้องด้านขวาล่าง การไอ จาม ขยับตัว หรือการกดบริเวณที่ปวดจะรู้สึกเจ็บ หลังจากนั้นจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้
- อาการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในวันเดียว ควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาล เพราะหากใช่ไส้ติ่งอักเสบจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
- ไส้ติ่งมีส่วนช่วยดักจับเชื้อ โรคที่ผ่านเข้ามาในบริเวณลำไส้ ทำหน้าที่คล้ายกับต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ ที่มีต่อมน้ำเหลืองไว้คอยดักจับเชื้อโรค
ขนาดของ ไส้ติ่งยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เซนติเมตร ตำแหน่งไส้ติ่งอยู่ตรงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นบริเวณท้องน้อยข้างขวา มีลักษณะคล้ายหาง ปลายปิด ส่วนอีกด้านหนึ่งต่อกับปลายลำไส้ใหญ่
- ไส้ติ่งอยู่บริเวณท้องน้อยข้าง ขวา หากมีอาการปวดหรือกดเจ็บบริเวณท้องน้อยข้างขวา จึงควรนึกถึงไส้ติ่งอักเสบไว้ก่อน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์
ปวดท้องจากนิ่วถุงน้ำดี และถุงน้ำดีอักเสบ- คนจำนวนไม่น้อยมีนิ่วในถุงน้ำดี (gall stone) โดย ไม่เกิดอาการใดๆ ส่วนมากประมาณร้อยละ 85 จะไม่มีอาการใดๆเลยจากนิ่วเหล่านี้ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อนิ่วเคลื่อนตัวไปอุดท่อน้ำดี ทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือแน่นท้องอย่างรุนแรง บริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงอยู่นานไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จนถึง 2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ ทุเลาเมื่อนิ่วที่อุดอยู่หลุดไป ในที่สุดก็หายเป็นปกติ แต่ก็จะเกิดอาการทำนองเดียวกันอีกภายหลังอีกหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนต่อมา ไม่มีการปวดแบบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันหลายวัน
- ในกรณีที่นิ่วที่อุดอยู่ไม่หลุดไป ถุง น้ำดีจะเกิดการอักเสบ อาการปวดท้องไม่หายไป และจะย้ายตำแหน่งไปปวดที่บริเวณท้องด้านขวาบน กดเจ็บในบริเวณนั้น และมีไข้ รวมทั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางกรณีมีดีซ่านด้วย
- นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) พบ ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เกิดจากการเสียสมดุลย์ของส่วนประกอบของน้ำดี ทำให้โคเลสเตอรอลตกตะกอนจับกันเป็นก้อนนิ่ว นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดมากกว่าปกติในผู้ป่วยโรคเลือด บางชนิด
- กรดน้ำดีซึ่งสำคัญต่อการย่อย และดูดซึมไขมัน และ วิตามินที่ละลายในไขมันในบริเวณลำไส้เล็ก สารหลายชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายโดยผ่านทางการหลั่งน้ำดี และผ่านออกไปทางอุจจาระ การหลั่งน้ำดีเป็นวิธีสำคัญในการขจัดโคเลสเตอรอลของร่างกาย โดยที่โคเลสเตอรอลละลายได้เมื่อมีกรดน้ำดี และเลทิซินซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่ง และมักจะตกตะกอนเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งพบว่าประกอบด้วยโคเลสเตอรอลเป็นส่วนใหญ่
- ตับเป็นอวัยวะสร้างน้ำดี การ สร้างน้ำดีในเซลล์ตับมีความสำคัญสำหรับการย่อยอาหารในลำไส้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย่อยไขมัน เซลล์ตับหลั่งน้ำดีเข้าไปในท่อทางเดินน้ำดีภายในตับ จากท่อขนาดเล็กไหลมารวมกันในท่อขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ภายในตับ จากนั้นจึงไหลออกไปนอกตับผ่านทางท่อทางเดินน้ำดีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ จากท่อน้ำดีร่วมซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำดีส่วนหนึ่งจะถูกขับเข้าสู่ลำไส้ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะไหลผ่านท่อซิสติกเข้าไปเก็บไว้ในถุงน้ำดี ภายในถุงน้ำดีจะมีขบวนการทำให้น้ำดีเข้มข้น โดยการดูดส่วนที่เป็นน้ำออกจากโมเลกุลของน้ำดี เมื่อน้ำดีถูกเก็บอยู่ในถุงน้ำดี จะถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นถึง 5 เท่าจากเดิม เนื่องจากการดูดซึมน้ำและสารอิเลคโทรลัยต์ขนาดเล็กออกไป แต่ยังคงปริมาณของสารอินทรีย์ต่างๆไว้ครบถ้วน น้ำดีที่เข้มข้นนี้มีความสามารถในการย่อยอาหารมากกว่าน้ำดีที่มาจากตับโดย ตรง
- ส่วนประกอบของน้ำดี น้ำดี ประกอบด้วยสารหลายชนิด ได้แก่ น้ำ สารอิเลคโทรลัยต์ โคเลสเตอรอล ฟอสโฟลิปิด กรดน้ำดี และบิลิรูบิน โดยปกติในผู้ใหญ่จะหลั่งน้ำดี 400-800 มิลลิลิตรต่อวัน โดยการหลั่งน้ำดีจะเกิดเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเริ่มจากเซลล์ตับสร้างและหลั่งน้ำดีไปสู่ท่อทางเดินน้ำดีภายในตับ จากนั้นจะไหลเข้าสู่ท่อน้ำดี น้ำดีในส่วนนี้ประกอบด้วยกรดน้ำดี โคเลสเตอรอล และสารอินทรีย์ ต่อมาในระยะที่สอง เมื่อน้ำดีไหลผ่านไปสู่ท่อน้ำดี จะมีการหลั่งน้ำ และไบคาร์บอเนตจากผนังท่อน้ำดี ทำให้น้ำดีส่วนนี้มีส่วนประกอบที่เป็นน้ำและไบคาร์บอเนตสูง
ปวดท้องจากการอุดตันของลำไส้- การอุดตันของลำไส้ (gut obstruction) จะ ทำให้เกิดอาการปวดท้องตามแนวกลางลำตัว ตั้งแต่กลางท้องลงไป ลักษณะอาการปวดเหมือนลำไส้ถูกบีบ เป็นระยะๆ ตามด้วยอาการอาเจียน และท้องอืด ข้อแตกต่างจากโรคอาหารเป็นพิษ คือ ไม่มีอาการท้องเดิน
- โรคนี้จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเช่นกัน เพราะก่อนอื่นต้องงด อาหาร และอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- ลำไส้เปรียบได้กับโรงงานที่ทำหน้าที่เปลี่ยนรูปอาหารให้ เป็นส่วนที่เล็กลงจนร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ เช่น เปลี่ยนไขมันในหมูสามชั้นให้เป็นกรดต่างๆ ที่ประกอบด้วยไขมัน และให้กลายเป็นสารที่เรียกว่ากลีเซอรอล และจะเปลี่ยนโปรตีนในเนื้อวัวให้กลายเป็นกรดอะมิโน นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงข้าวสวยให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยการทำงานของลำไส้
- ลำไส้เล็กยาว 25 ฟุต (7.5 เมตร) ลำไส้ใหญ่ยาว 5 ฟุต (1.5 เมตร) แม้ว่าลำไส้ใหญ่จะสั้นกว่า แต่ก็มีความกว้างกว่าลำไส้เล็กถึง 3 เท่า โดยวัดจากเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 2.5 นิ้ว (7 เซนติเมตร) แต่ทั้งนี้ในเวลาที่ลำไส้กำลังทำงานจะเกิดการหดตัว ทำให้ความยาวของลำไส้สั้นกว่าเวลาปกติ
- ส่วนประกอบภายในของลำไส้เล็กนั้น โครงสร้างโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายผ้ากำมะหยี่ ซึ่งเมื่อแผ่พื้นที่ของลำไส้เล็กทั้งหมดออกมาแล้วจะมีพื้นที่มากกว่าความยาว ของมันเสียด้วยซ้ำ คิดรวมเบ็ดเสร็จสรรพแล้วประมาณ 30 ตารางหลา (250 ตารางเมตร) หรือเท่ากับสนามเทนนิส 2 สนามรวมกัน การที่ลำไส้เล็กมีเนื้อที่กว้างขวางขนาดนี้ก็เพราะความจำเป็นในการที่ต้องทำ หน้าที่ดูดซึมสารอาหารที่ร่างกายรับเข้ามาไม่ให้ขาดตกบกพร่อง การที่มีพื้นที่มากบรรจุอยู่ในที่แคบๆ ได้ก็ต้องอาศัยการพับไปพับมา และยังมีส่วนยื่นออกมาคล้ายชั้นวางของมากมาย ในแต่ละชั้นก็มีส่วนยื่นคล้ายนิ้วมือ ที่เรียกว่าวิลไลออกมาอีก ทำให้เพิ่มพื้นที่ขึ้นไปได้อีกมาก และในวิลไลก็ยังมีไมโครวิลไลด้วย เหล่านี้เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวทั้งสิ้น
- ลำไส้ใหญ่มี ลักษณะเป็นกระพุ้ง และเป็นปล้องๆ มีความยาวประมาณ 150 ซม. ลำไส้ใหญ่ตั้งต้นจากลำไส้เล็กส่วนปลายไปจนถึงทวารหนักแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น หรือกระพุ้งลำไส้ใหญ่ (cecum) ลำไส้ใหญ่ส่วนกลาง ลำไส้ใหญ่ส่วนตรง หรือไส้ตรง (rectum) และช่องทวารหนัก ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นหรือกระพุ้งลำไส้ใหญ่เป็นกระพุ้งใหญ่ และส่วนปลายของกระพุ้งมีไส้เล็กๆ ปลายตันที่เรียกว่าไส้ติ่ง หรือไส้ตัน มีความยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ถึง 2 นิ้ว ระหว่างส่วนลำไส้เล็กส่วนปลายกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้นนี้จะมีลิ้นป้องกันไม่ให้ อาหารย้อนกลับไปยังลำไส้เล็ก
- ลำไส้ใหญ่ส่วนกลาง แบ่ง ออกได้เป็น ลำไส้ใหญ่ส่วนขึ้นเป็นส่วนต่อจากกระพุ้งลำไส้ใหญ่ ทอดขึ้นทางขวาของช่องท้องไปถึงใต้ตับโค้งไปทางซ้าย ลำไส้ใหญ่ส่วนขวางเป็นส่วนที่ต่อจากลำไส้ใหญ่ส่วนขึ้น ทอดขวางไปตามช่องท้องจากทางด้านขวาไปทางด้านซ้าย แล้ววกใต้ม้ามลงข้างล่าง ลำไส้ใหญ่ส่วนลงเป็นส่วนต่อจากส่วนโค้งของลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง ทอดลงมาข้างล่างทางซ้ายของช่องท้อง และลำไส้ใหญ่ส่วนคดเป็นส่วนที่ต่อจากลำไส้ใหญ่ส่วนลง มีลักษณะคล้ายตัว s
- ลำไส้ใหญ่ส่วนตรงหรือไส้ตรง เป็น ส่วนที่ต่อจากลำไส้ใหญ่ส่วนคด เป็นลำไส้ที่ตรงลงมา ในผู้ชายอยู่ส่วนหลังกระเพาะปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงอยู่หลังมดลูก ส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ ส่วนตรงนี้เป็นที่พักของอุจจาระ ลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย เรียกว่า ช่องทวารหนัก เป็นส่วนสุดท้ายของลำไส้ใหญ่ ส่วนเปิดสู่ภายนอก เรียกว่า ทวารหนัก ที่ทวารหนักมีกล้ามเนื้อหูรูดที่เปิดออกเวลาถ่ายอุจจาระ หลังจากกินอาหารแล้ว อาหารจะผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ในเวลากว่า 8 ชั่วโมงครึ่ง
- ลำไส้ใหญ่จะไม่มีการย่อยอาหาร เป็น ส่วนที่สะสมกากอาหาร และช่วยดูดซึมน้ำจากกากอาหารที่เหลือจากการดูดซึมของลำไส้เล็ก กากอาหารที่ดูดซึมแล้วจึงมีลักษณะค่อนข้างเหนียวข้น และในที่สุดจะแข็งหากไม่อุจจาระหลายๆ วัน การที่อุจจาระแข็งจะทำให้ถ่ายลำบากต้องออกแรงเบ่ง ทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ภายในลำไส้ใหญ่จะมีแบคทีเรียอยู่มากมาย แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่เหล่านี้โดยปกติจะมีคุณมากกว่าโทษ โดยช่วยทำลายเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ช่วยย่อยกากอาหารให้สลายตัวมากขึ้น สารบางอย่างเมื่อสลายตัวจะทำให้เกิดแก๊สขึ้นมาได้ ทำให้เกิดอาการผายลม
ขนาดของ ไส้ติ่งยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เซนติเมตร ตำแหน่งไส้ติ่งอยู่ตรงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นบริเวณท้องน้อยข้างขวา มีลักษณะคล้ายหาง ปลายปิด ส่วนอีกด้านหนึ่งต่อกับปลายลำไส้ใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น