โรคเก๊าท์
โดย : bangkokhealthโรคเก๊าท์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกภายในข้อ ซึ่งเป็นผลจากการมีระดับกรดยูริกในเลือด สูงเป็นเวลานาน โรคเก๊าท์เป็นโรคเรื้อรัง ที่อาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง มักเกิดในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ข้อที่มักพบการอักเสบจากโรคเก๊าท์ได้บ่อย เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ เป็นต้น...
โรคเก๊าท์ เป็น โรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกภายในข้อ ซึ่งเป็นผลจากการมีระดับกรดยูริกในเลือด สูงเป็นเวลานาน โรคเก๊าท์เป็นโรคเรื้อรัง ที่อาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง มักเกิดในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ข้อที่มักพบการอักเสบจากโรคเก๊าท์ได้บ่อย เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ เป็นต้น
กรดยูริก คืออะไร ?
กรดยูริก เกิดจากสารพิวรีน ที่มีอยู่ในโปรตีนทุกชนิด กรดยูริกในร่างกายได้จาก 2 ทาง คือ
- จากอาหารที่รับประทาน ประมาณร้อยละ 20 ได้จากอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่รับประทาน ซึ่งจะถูกย่อยสลายจนเกิดเป็นกรดยูริก
- จากร่างกายสร้างขึ้นเอง ประมาณร้อยละ 80 ได้จากการสลายเซลล์ หรือเนื้อเยื่อในร่างกาย แล้วถูกเปลี่ยนให้เป็นกรดยูริกโดยปกติ ร่างกายจะมีระดับกรดยูริกในเลือด ไม่สูงกว่า 7 มิลลิกรัมในเลือด 100 มิลลิลิตร เนื่องจากมีระบบควบคุม การสร้างและการกำจัดกรดยูริกอย่างสมดุล กรดยูริกจะถูกขับออกทางไต 2 ใน 3 ของที่ร่างกายสร้างขึ้น อีกส่วนหนึ่งจะขับออกทางน้ำลาย น้ำย่อย และน้ำดี ซึ่งจะถูกทำลายโดยแบคทีเรียในลำไส้
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุของภาวะกรดยูริกในเลือดนั้น มักไม่ทราบแน่ชัด โดยทั่วไปมีปัจจัยมาจาก
- ร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถควบคุม การสร้างของกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือร่างกายได้รับสารโปรตีนจากอาหารมากเกินไป
- ร่างกายขับกรดยูริกออกไม่ได้ดี จากโรคไตพิการ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาวัณโรคบางชนิด เป็นต้น
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเก๊าท์ ?
เมื่อ มีอาการปวดบวมตามข้อโดยฉับพลัน หรือปวดข้อหนึ่งข้อใดเป็นๆ หายๆ ควรพบแพทย์พื่อรับการตรวจน้ำไขข้อ หาผลึกกรดยูริก ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเข็มเรียวยาวอยู่ในเม็ดเลือดขาว ถ้าตรวจพบจะเป็นการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ที่แน่นอน ส่วนผู้มีระดับกรดยูริกสูงอย่างเดียว แต่ไม่เคยมีอาการข้ออักเสบเลย จะยังไม่ถือว่าเป็นโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์ มีอาการอย่างไรบ้าง ?
- ข้ออักเสบเฉียบหลัน มีข้อบวมแดงและร้อน บางรายอาจมีไข้ ระยะแรก อาการข้ออักเสบจะเป็นๆ หายๆ ถ้าไม่รับการรักษาต่อเนื่อง ข้ออักเสบจะกำเริบบ่อยๆ เป็นนานขึ้น และเป็นหลายข้อพร้อมกันได้
- ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์มานาน และไม่รับการรักษาให้ถูกต้อง จะมีการตกผลึกกรดยูริกเพิ่มมากขึ้น ตามข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เป็นปุ่มก้อนใต้ผิวหนังได้ บริเวณที่พบได้บ่อย เช่น หลังเท้าและนิ้วเท้า ตาตุ่ม ข้อศอก นิ้วมือ ใบหู เป็นต้น ซึ่งลักษณะอาการนี้ มักพบในผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์มานาน และมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาก
- อาการของโรคไต จากการเป็นโรคเก๊าท์มานาน อาจเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริก จนเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อของไต ก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง และภาวะไตวายได้
การรักษาโรคเก๊าท์มีอะไรบ้าง ?
ปัจจุบัน การรักษาโรคเก๊าท์ได้ผลดี จุดมุ่งหมายของการรักษา คือ ควบคุมระดับของกรดยูริกในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติ มีดังนี้
- การรักษาอาการข้ออักเสบเฉียบหลัน เพื่อลดการอักเสบ และอาการปวดบวมของข้อ และป้องกันการอักเสบกำเริบของข้อ
- ควบคุมหรือลดระดับกรดยูริกในเลือด ให้อยู่ระดับปกติ ซึ่งอาจเป็นยายับยั้งการสร้างกรดยูริกของร่่างกาย หรือยาที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
โรคเก๊าท์ ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้อย่างดี โดยรักการรักษาอย่างต่อเนื่อง และรับประทานยาตามแพทย์กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำอีก และภาวะแทรกซ้อนจากการตกผลึกของกรดยูริกในอวัยวะต่างๆ หรือไม่ให้เกิดความพิการของข้อได้
เมื่อเป็นโรคเก๊าท์ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- ที่สำคัญที่สุด คือ การรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคเก๊าท์และโรคประจำตัวอื่นๆ ให้รับประทานยาตามกำหนด ถ้ามีอาการผิดปกติให้ปรึกษาแพทยื ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มักมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท โรคเบาหวาน เป็นต้น
- หยุดพักการใช้ข้อระยะที่มีการอักเสบ หลีกเลี่ยงการบีบนวด จะทำให้ข้ออักเสบเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อน และความเย็นประคบบริเวณข้อ ในขณะที่มีการอักเสบ
- รับประทานอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่เป็นอาหารแสลง กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบทุครั้งที่รับประทาน ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น เครื่องในสัตว์ น้ำซุปกระดูกสัตว์ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เบียร์ สุรา ไวน์ บรั่นดี เป็นต้น
- ดื่มน้ำมากๆ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อเร่งขับกรดยูริกทางไต และป้องกันการตกผลึกกรดยูริกตกค้างในไต
- หลีกเลี่ยงอากาศเย็น โรคเก๊าท์มักมีอาการกำเริบเวลาอากาศเย็น และเวลากลางคืน
- ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่อ้วน เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อ และป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบ
- เมื่อมีอาการหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ก้อนหรือปุ่ม ปวดเอวหรือปวดท้อง ปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด
- ดำเนินชีวิตอย่าให้เคร่งเครียดมากนัก
*****iFLoWeRs*****
โรคเก๊าท์เกิดได้อย่างไร...
โดย : สาระความรู้ทางการแพทย์ ศิริราชโรค เก๊าท์ เป็นโรคที่เป็นกันมากขึ้นในคนไทย โดยเฉพาะผู้ชายที่ค่อยข้างมีอายุ ปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อโรคนี้อยู่มาก ทั้งตัวแพทย์ผู้รักษาเอง และผู้ป่วย นำมาซึ่งความเชื่อผิด ๆ อยู่ให้เห็นในปัจจุบัน...
เก๊าท์ (Gout) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมียูริคสูงอยู่ในเลือดเป็นเวลานาน และด้วยคุณสมบัติของยูริคเอง ที่มีการละลายได้จำกัด (ประมาณ 7 มก./ดล.) ทำให้ยูริคส่วนเกินนี้ เกิดการตกตะกอนในร่างกาย ที่พบมากและทำให้เกิดอาการคือ ในข้อต่าง ๆ, ในไต และเมื่อเป็นเรื้อรัง จะเห็นการตกตะกอนตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ เห็นเป็นปุ่มก้อนตามแขนขาได้
กรดยูริค (Uric acid) เป็นผลผลิตจากการสลายสารพิวรีน (purine) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการสร้างสาย DNA ในเซลล์ต่าง ๆ ดังนั้นการสลายเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มี DNA จะได้กรดยูริค เสมอ
ทำไมเก๊าท์มีแต่ผู้ชาย อายุมาก, ผู้หญิงไม่เป็นโรคนี้หรือ ?
เนื่องจากภาวะกรดยูริคในเลือดที่สูงนั้น จะยังไม่เกิดการตกตะกอนและเกิดข้ออักเสบทันที แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่กรดยูริคในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายสิบปี พบว่าในผู้ชายที่มีกรดยูริคสูงนั้น ระดับของยูริคในเลือดจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และสูงไปนานจนกว่าจะเริ่มมีอาการคืออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงระดับยูริคจะเริ่มสูงขึ้นหลังจากวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิง มีผลทำให้ยูริคในเลือดไม่สูง
พบว่ายูริคในเลือดที่สูงนั้น กว่าร้อยละ 90 เกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกายเอง อาหารเป็นแหล่งกำเนิดของยูริคในเลือดน้อยกว่าร้อยละ 10 เสียอีก ดังนั้นผู้ที่ไม่มียูริคสูงมาก่อน การกินอาหารที่มีพิวรีนสูง จึงไม่มีทางทำให้ระดับยูริคสูงได้ครับ
ปวดข้อแล้วไปเจาะเลือดพบว่ายูริคสูง แสดงว่าเป็นเก๊าท์, ถ้ายูริคไม่สูง ไม่ใช่เก๊าท์ ?
เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ การวินิจฉัยโรคเก๊าท์ อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายง่าย ๆ ครับ ข้ออักเสบจากเก๊าท์วินิจฉัยได้ง่าย เพราะผู้ป่วยจะมีอาการ "ปวด บวม แดง ร้อน" ที่ข้อชัดเจน เป็นเร็ว และมักเป็นข้อเดียว ข้อที่เป็นบ่อยได้แก่ ข้อนิ้วหัวแม่เท้า, ข้อเท้า, ข้อเข่า ถ้าผู้ป่วยปวดข้อ แต่สงสัยว่ามีปวด บวม แดง ร้อนหรือไม่ หรือตรวจไม่พบ ไม่ชัดเจน ให้สงสัยว่าไม่ใช่เก๊าท์ ครับ รายที่เป็นเรื้อรังอาจมีปวดหลายข้อและพบมีปุ่มก้อนที่รอบ ๆ ข้อ เช่น ข้อเท้า, ส้นเท้า, ข้อมือ, นิ้วมือ ได้ ถ้าก้อนเหล่านี้แตกออกจะพบตะกอนยูริคคล้ายผงชอล์กไหลออกมา
การเจาะเลือดตรวจระดับกรดยูริคในเลือด ในช่วงที่มีข้ออักเสบอาจพบว่า สูง ต่ำ หรือเป็นปกติได้ครับ ดังนั้นผู้ที่มีข้ออักเสบเก๊าท์ ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดในขณะนั้นและไม่ช่วยในการวินิจฉัยครับ ดังนั้น..
- ถ้าอาการปวด บวม แดง ร้อน ที่ข้อไม่ชัดเจน ถ้าเป็นที่ข้อบริเวณเท้า แล้วผู้ป่วยเดินได้สบาย แม้ว่าเจาะเลือดแล้วยูริคสูง ก็ให้สงสัยว่าไม่ใช่ เก๊าท์
- ถ้ามีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่ข้อชัดเจน เป็นในตำแหน่งข้อเท้า ข้อนิ้วหัวแม่เท้า เป็นเร็ว แม้ว่าจะเจาะยูริคแล้วไม่สูง ก็น่าจะเป็นเก๊าท์ ครับ
เก๊าท์ รักษาได้หายขาด จริงหรือ ? ต้องทำยังไง ?
จริงครับ ถ้าเรายอมรับว่า ผู้ป่วยที่รักษาแล้ว ไม่มีอาการปวดข้ออีกเลยตลอดชีวิต เรียกว่าหาย
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็น 2 ระยะ ในความดูแลของแพทย์ ได้แก่
- การรักษาในระยะเฉียบพลัน คือ ข้ออักเสบ โดยใช้ยาลดการอักเสบที่นิยมได้แก่ ยา โคลชิซิน (Colchicine) กินวันละไม่เกิน 3 เม็ด (เช่น 1 เม็ดหลังอาหาร 3 มื้อ) จะทำให้ผู้ป่วยหายจากข้ออักเสบในเวลา 1-2 วัน อาจทำให้ข้ออักเสบหายเร็วขึ้น ถ้าใช้ร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ บางครั้งอาจมีผู้แนะนำให้กินยาโคลชิซิน 1 เม็ด ทุกชั่วโมง จนกว่าจะหายปวด หรือจนกว่าจะท้องเสีย ซึ่งไม่แนะนำ เพราะผู้ที่กินยานี้ จะท้องเสียก่อนหายปวดเสมอ
- การรักษาระยะยาว โดยใช้ยาลดกรดยูริคในเลือด โดยถือหลักการว่า ถ้าเราลดระดับยูริคในเลือดได้ ต่ำกว่า 7 มก./ดล. จะทำให้ยูริคที่สะสมอยู่ละลายออกมา และขับถ่ายออกจนหมดได้ ยาที่นิยมใช้ได้แก่ ยา อัลโลพูรินอล (Allopurinol) ขนาด 100-300 มก. กินวันละครั้ง ซึ่งยานี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง กินยาสม่ำเสมอ และกินไปนานอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อกำจัดกรดยูริคให้หมดไปจากร่างกาย การกิน ๆ หยุด ๆ จะทำให้แพ้ยาได้ง่าย ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังชนิดรุนแรง
ข้อคำนึงในการรักษาได้แก่
- ยาลดกรดยูริคมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ จึงสงวนไว้ใช้ในผู้ป่วยเก๊าท์เท่านั้น ผู้ที่ตรวจเลือดแล้วพบว่า ยูริคสูง โดยไม่มีอาการปวดข้อแบบเก๊าท์มาก่อน ไม่มีความจำเป็นต้องกินยานี้ เพราะผู้ที่ยูริคสูงไม่ได้เป็นเก๊าท์ทุกคน การกินยาทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็น
- เมื่อมีอาการปวดข้อเกิดขึ้น อย่านวด เพราะการนวด หรือใช้ยาทาถู ทำให้อาการข้ออักเสบ เป็นนานขึ้น หายช้า
- ในผู้ที่มีอาการข้ออักเสบแบบเก๊าท์ เป็นครั้งแรก ไม่จำเป็นต้องเริ่มยาลดยูริคตั้งแต่แรก เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่ง มีอาการข้ออักเสบ เพียงครั้งเดียวในชีวิต และไม่เป็นอีก และพบว่าการเริ่มกินยาลดกรดยูริคในขณะที่ข้ออักเสบ จะทำให้ข้ออักเสบหายช้าลง
- ในผู้ป่วยที่กินยาลดกรดยูริคอยู่ อาจพบว่ามีอาการข้ออักเสบแบบเก๊าท์ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องหยุดยา เพียงแต่รักษาข้ออักเสบตามข้างต้น และเมื่อกินยาต่อไปเรื่อย ๆ จะพบว่า ข้ออักเสบจะเป็นห่างขึ้น เป็นน้อยลง หายเร็วขึ้น จนกระทั่งไม่มีอาการข้ออักเสบอีกเลย
- หลังจากกินยาไปแล้ว 3-5 ปี อาจลองพิจารณาหยุดยาได้ ในผู้ป่วยที่อายุมาก เนื่องจากยูริคที่เริ่มสูงขึ้นหลังจากหยุดยา กว่าจะเริ่มสะสมจนเกิดข้ออักเสบนั้น กินเวลา หลายสิบปี จนอาจไม่เกิดอาการอีกเลยตลอดชีวิต
อาหารกับโรคเก๊าท์ ? / เป็นเก๊าท์ ห้ามกินสัตว์ปีก ?
ไม่ห้ามครับ เพราะเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น ยูริคที่สูงกว่าร้อยละ 90 เกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเอง อาหารเป็นส่วนประกอบน้อยมาก ต่อระดับยูริคในเลือด
มีการทดลองให้อาสาสมัคร กินอาหารที่มีพิวรีนสูง ทั้ง 3 มื้อ เช่น สัตว์ปีก, เครื่องในสัตว์, ยอดผัก, ไข่ปลา เป็นต้น เป็นเวลาหลายสัปดาห์ พบว่าระดับยูริคในเลือดสูงขึ้นเพียง 1 มก./ดล. ดังนั้นคนธรรมดาที่ไม่ได้กินแต่อาหารที่มีพิวรีนสูงอย่างเดียว จึงแทบไม่มีผลต่อระดับยูริคในเลือดเลย นอกจากนี้ ผู้ป่วยเก๊าท์มักเป็นชายวัยกลางคนหรือสูงอายุ ซึ่งอาจมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบาหวาน, ความดันเลือดสูง ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดหรืองดอาหารบางประเภทอยู่แล้ว การบอกให้ผู้ป่วยเก๊าท์งดอาหารพิวรีนสูงเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยลำบากในการเลือกกินอาหารยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยเก๊าท์ที่กินยาลดยูริคอยู่แล้ว ยิ่งไม่มีความจำเป็นต้องเลี่ยงอาหารใด ๆ อีก
จะเห็นได้ว่า โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่มีหลายคน ยังเข้าใจผิดถึงโรคและการปฏิบัติตัว ทำให้เกิดความลำบากในการรักษา และสร้างความทุกข์กับผู้ป่วยด้วย บทความนี้คงทำให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ และยิ่งถ้าผู้ป่วยได้อ่านจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตนเองยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น