- วิธีดับกลิ่นปาก


วิธีดับกลิ่นปาก

ปาก
ปัญหากลิ่นปากเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน และก็เกิดได้จากหลายสาเหตุแน่นอนค่ะว่า ทุกคนก็คงอยากแก้ไขปัญหานี้ วันนี้เราจึง หยิบยกเอาสาเหตุและวิธีดับกลิ่นปากมาบอกเล่าให้ทราบกันค่ะ เพื่อคุณ ๆ ทั้งหลายได้หายเครียดกันค่ะ
วิธีดับกลิ่นปาก คือ

แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะถ้าเราเข้าใจ สาเหตุของกลิ่นปาก และมี วิธีลดกลิ่นปาก หรือ ขจัดกลิ่นปาก อันไม่พึงประสงค์ในปากได้แล้วปัญหาที่น่าวิตกนี้ก็จะหายไปเอง โดยเบื้องต้นต้องเข้าใจเสียก่อนค่ะว่า สาเหตุของการเกิดกลิ่นปากมี 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ สาเหตุภายในช่องปาก กับสาเหตุภายนอกช่องปาก

สาเหตุของกลิ่นปาก ภายในช่องปากส่วนใหญ่เกิดจาก

1. การไม่รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี
เช่น แปรงฟันไม่สะอาดมีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ตามผิวฟัน ลิ้น หรือกระพุ้งแก้มก็ทำให้มีกลิ่นปากได้ ถ้ามีเศษอาหารติดตามซอกฟันต้องกำจัดออกโดยใช้ไหมขัดฟันซึ่งควรฝึกใช้ให้เป็น นิสัยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

2. การมีฟันผุ ทำให้เศษอาหารติดค้างอยู่ในรูฟันที่ผุอาหารเหล่านี้จะบูดเน่าและทำให้เกิด กลิ่นหรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มีหนองที่ปลายรากฟัน หนองพวกนี้จะมีกลิ่นมาก การแก้ไขคือ อุดฟันซี่ที่มีการผุนั้น ถ้าผุทะลุโพรงประสาทแล้วก็ต้องรักษารากฟัน ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันไว้และรักษาให้ดีเหมือนเดิมก็จะต้องถอนออกแล้ว ใส่ฟันปลอม

3. โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
เหงือก อักเสบเนื่องจากมีหินปูนมีการสะสมของเศษอาหารมีการทำลายอวัยวะรอบรากฟัน เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน เศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้นและแปรงออกได้ไม่หมด นาน ๆ ไปจึงส่งกลิ่นออกมา การแก้ไขคือต้องกำจัดหินปูนออกให้หมดโดยให้ทันตแพทย์ขูดออก ในรายที่เหงือกอ้าออกมากและมีหินปูนเข้าไปสะสมอยู่มากอาจต้องผ่าตัดเปิด เหงือกออกเพื่อกำจัดหินปูนให้หมด แล้วจึงปิดเหงือกกลับเข้าไปตามเดิม

สำหรับยาสีฟัที่โฆษณาว่ากำจัดหินปูนได้นั้นที่จริงเพียงแต่ไม่ทำให้เกิดการ สะสมของหินปูนใหม่ แต่ถ้ามีหินปูนอยู่แล้วจะกำจัดออกได้วิธีเดียวคือให้ทันตแพทย์ขูดออก สำหรับผู้ที่เป็นและเคยรักษาโรคปริทันต์มาแล้ว การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดคราบแบคทีเรียหรือคราบอาหารออกได้ หมด ต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดเพิ่ม เช่น ไหมขัดฟัน แผ่นเทปรัดฟัน แปรงซอกฟัน เป็นต้น

4. แผลในช่องปาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้เมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะลดลง นอกจากนี้กลิ่นปากอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟันหรือผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลในปากผู้ป่วยมักจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด การรับประทานอาหารอ่อนทำให้มีอาหารติดฟันได้ง่ายและมากขึ้น แผลที่มีเลือดไหลซึมจะเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อโรคในช่องปากทำให้เกิดการบูด เน่าของอาหารและเลือดมีกลิ่นเหม็นได้

การแก้ไขคือ ขณะมีแผลในปากไม่ควรละเลยการทำความสะอาดช่องปากหลังรับประทานอาหารควรแปรง ฟันทันที โดยใช้แปรงปัดเบา ๆ เพื่อไม่ให้คราบอาหารเกาะฟันนานจะแปรงออกได้ง่ายกว่า ถ้าอ้าปากหรือแปรงฟันไม่ได้ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ทุกครั้งหลังรับประทานอาหารใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเช็ดฟัน เมื่อแผลหายและแปรงฟันหรือรับประทานอาหารได้ตามปกติแล้วกลิ่นปากก็จะหายไป

5. ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือใส่เครื่องมือต่าง ๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก หรือเฝือกสบฟัน เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดีจะทำให้มีกลิ่นได้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำด้วยอะคริลิกหรือมีส่วนของอะคริลิกอยู่ด้วย เนื้ออะคริลิกจะมีรูพรุนจะดูดซึมของเหลวต่าง ๆ ได้ ถ้าล้างไม่สะอาดอาหารก็จะบูดเน่าติดอยู่กับเครื่องมือทำให้มีกลิ่นได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังจากถอดแล้วและถ้ายังไม่ใส่ต่อ ควรแช่ไว้ในน้ำสะอาดและก่อนใส่ควรทำความสะอาดอีกครั้ง ฟันปลอมที่ใส่มานานแล้วถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะอาจใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอม โดยเฉพาะแช่ได้เป็นครั้งคราว

6. ลิ้นที่เป็นฝ้า เนื่องจากมีการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนผิวด้านบนของลิ้นก็เป็นสาเหตุ ของกลิ่นปากได้ เราสามารถใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นขณะแปรงฟันหรือใช้ผ้า ไหมขัดฟัน หรือไม้ขูดลิ้น ขูดออก นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีกากก็ช่วยขัดถูลิ้นได้ เช่น อ้อย สับปะรด

7. น้ำลาย ก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ถ้ามีน้ำลายน้อยชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมดก็จะ ทำให้มีกลิ่นปากได้ ตอนตื่นนอนจึงมักจะมีกลิ่นปาก เพราะขณะหลับมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อยผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียวก็จะชำระ ล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส ดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าปากแห้งคอแห้งควรดื่มน้ำบ่อย ๆ


วิธีแก้กลิ่นปาก

สาเหตุของกลิ่นปาก ภายนอกช่องปากจะเกี่ยวข้องกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น

1. โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน เริ่มตั้งแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบหรือที่เรียกว่า ไซนัสอักเสบ เกิดจากมีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้าซึ่งมีหลายโพรง การอักเสบจนมีหนองนี้จะทำให้มีกลิ่นออกมาทางจมูกขณะหายใจและทางปากขณะพูด ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดบ่อย ๆ หรือเป็นนาน ๆ

2. มะเร็งที่โพรงจมูก จะมีกลิ่นเหม็นมากและจะมีหนองไหลออกจากจมูกลงไปในคอเวลาก้มศีรษะ ซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์

3. ทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จะมีกลิ่นปากได้และจะหายไปได้เมื่อคอหายอักเสบ

4. โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอด หรือมะเร็งที่ปอด จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและลมปากได้ ผู้ที่สูบบุหรี่นาน ๆ ก็ทำให้ลมหายใจและลมปากมีกลิ่นได้เช่นกัน

5. ระบบย่อยอาหาร เริ่ม ตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีหนอง อาจมีกลิ่นออกมาขณะพูดหรือเรอได้ผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ เมื่อมีลมออกจากกระเพาะก็จะมีกลิ่นเหมือนอาหารบูดตามออกมาด้วย รวมทั้งผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อย ๆ เมื่อมีลมดันขึ้นหรือเรอก็จะทำให้ปากมีกลิ่นได้เช่นกัน

นอกจากนี้กลิ่นปากยังเกิดได้จากการที่สารมีกลิ่นถูกดูดซึมเข้าทางกระแสโลหิต และถูกขับถ่ายออกทางลมหายใจ เหงื่อ น้ำลาย หรือทางปัสสาวะ สารที่ถูกดูดซึมเข้าไปนี้อาจมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยา หรือมีการสะสมของสารที่ผิดปกติในเลือด

6. การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ สะตอ จะทำให้มีกลิ่นปากได้แต่เมื่อถูกย่อย ดูดซึม และขับถ่ายออกหมด กลิ่นก็จะหายไป แต่ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้มีกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้ด้วย

7. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ก็ทำให้มีกลิ่นปาก ยาบางชนิดก็อาจทำให้เกิดกลิ่นได้ เช่น ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคจิตบางตัวก็ทำให้มีกลิ่นได้

การใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อดับกลิ่นปากควรเลือกใช้ให้เหมาะสม น้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมักใช้เมื่อมีอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีแผลในช่องปากหรือลำคอเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นประจำโดยไม่ได้กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นออกไป เช่น โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ หรือรากฟันเป็นหนอง ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นเหตุกลิ่นปากก็จะไม่มีวันหมดไปได้

เหตุผลที่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะยาจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามปกติในช่องปากให้หมดไป จะทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายและถ้าเป็นเชื้อราแล้วจะรักษาค่อนข้างยากและหายช้า สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ ซึ่งทันตแพทย์แนะนำให้อมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันผุ สามารถใช้ได้โดยเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่

ถ้าเป็นกลิ่นปากที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวหลังรับประทานอาหารที่มีกลิ่น แรงให้เคี้ยวใบสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หรือกานพลูหลังมื้ออาหารหรือสะดวกกว่านั้นก็คือ เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาลหลังมื้ออาหารค่ะ

เคล็ดลับ ลดกลิ่นปาก

1. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำมากๆ ช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลาย

2. อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะจะทำให้ความเข้มข้นของแบคทีเรียในปากเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย

3. ดื่มน้ำมะนาว จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลาย

4. หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นปากได้

5. แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
และอย่าลืมแปรงด้านบนของลิ้นด้วย

6. ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟัน ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า และหากแปรงเสียให้เปลี่ยนแปรง

7. ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

8. เลิกสูบบุหรี่

9. ตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น